เรื่องของสุนัขกัดคน เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านอาจเคยมีประสบการณ์ถูกสุนัขกัดกันมาบ้าง ซึ่งเหตุการณ์นี้มักเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย และไม่มีใครคาดคิด ว่ามันจะเกิดขึ้นกับตัวเอง
คุณ ๆ ทราบหรือไม่ว่าในทุก ๆ วันมีคนถูกสุนัข (ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของหรือสุนัขจรจัด) กัดเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใด เข้ามาดำเนินการแก้ไขให้เห็นเป็นรูปธรรม เมื่อเกิดเหตุการณ์สุนัขกัดคนจนได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือในกรณีที่ผู้เคราะห์ร้ายเป็นเด็กอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต กลายเป็นข่าวครึกโครมลงหน้าหนึ่งนสพ. ก็เกิดกระแส กระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้คนในสังคมเกิดการตื่นตัว วิพากวิจารณ์ หาทางป้องกันและแก้ไข กันไปครั้งนึง แต่พอข่าวเริ่มเงียบลง สิ่งต่าง ๆ ก็เหมือนจะยุติลงตามไปด้วย เหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำอีก เป็นวัฏจักร ที่ไม่มีวันจบสิ้น หากผู้ที่เป็นตัวการที่สำคัญที่สุด (เจ้าของสุนัขและผู้ที่ต้องอยุ่กับสุนัข) ยังคงขาดความรู้ ขาดความเข้าใจในการเลี้ยงดู ขาดการฝึกสอน และการสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีให้กับสุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตสำนึกสาธารณะ ในความรับผิดชอบต่อสังคม ปัญหาสุนัขจร และสุนัขบ้านที่หลุดออกมาทำร้ายคนก็คงจะไม่มีวันหมดสิ้น
ปัญหาสุนัขทำร้ายคน จึงถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ เพราะมันอาจจะเกิดขึ้นกับคุณ และคนที่คุณรัก ได้ทุกเมื่อโดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายอันดับแรก ๆ ดังนั้นในฐานะที่คุณเป็นคนเลี้ยงสุนัข รักสุนัข หรืออาจจะไม่ได้เลี้ยงหรือรักมันก็ตาม นั่นไม่ได้ทำให้คุณหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมสังคมเดียวกับสุนัขได้
เมื่อเรามีความจำเป็นที่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การระมัดระวังและการป้องกันตัวเอง ให้รอดพ้นจากเหตุการณ์เหล่านั้น จึงมีความสำคัญมากที่สุด
ครูอุ๊จึงขอนำเสนอคาถาพิชิตหมากัด รวมถึงกลเม็ดเคล็ดลับวิธีการฝึกและการดูแลสุนัขของคุณ ๆ ไม่ให้เป็นสุนัขเขี้ยวโหด และตกเป็นจำเลยของสังคมอย่างที่ผ่าน ๆ มาค่ะ
เมื่อพูดถึงเรื่องความระมัดระวัง และการป้องกันการถูกสุนัขกัด สิ่งที่คุณควรรู้เป็นอันดับแรกก็คือ สัญญาณ และท่าทาง ของสุนัข ที่คุณไม่ควรเข้าใกล้
1. เห่า หรือขู่กรรโชก แสดงออกถึงความก้าวร้าวที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด
2. หางตก ตาขวาง แสดงถึงความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ และไม่เป็นมิตร
3. แยกเขี้ยว ตัวเกร็ง ขนตั้งชัน แสดงออกถึงความพร้อมที่จะเข้าต่อสู้ และทำร้าย
นอกจากนั้นคุณควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ หรือสัมผัสตัวสุนัข ในช่วงเวลาและสถานการณ์ดังต่อไปนี้ด้วย
1. สุนัขกำลังกินอาหาร
สุนัขบางตัวที่มีพฤติกรรมหวงอาหาร การที่คุณเข้าไปหยิบจับอาหารหรือภาชนะอาหาร ขณะที่สุนัขกำลังง่วนอยู่กับ
การกิน มันอาจเป็นชนวนเหตุให้คุณถูกกัดได้โดยไม่รู้ตัว
2. สุนัขกำลังนอน
หากสุนัขตัวนั้น มีจิตประสาทที่ไม่มั่นคง ขี้ระแวง หรือตื่นตกใจง่าย การเดินผ่านหรือเข้าไปสัมผัสตัวสุนัขก่อนที่สุนัขจะตื่น หรือรู้สึกตัว บางครั้งอาจทำให้สุนัขกัดคุณเพราะความตกใจ แต่ไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้
3. สุนัขกำลังกัดกัน
ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้ การเข้าไปจับ หรือเข้าไปแยกสุนัขถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวด เพราะสุนัขอาจจะแว้งกัดคุณแทนการกัดหมาคู่อริ
4. สุนัขกำลังติดสัด
ในฤดูของการผสมพันธุ์ สุนัขอาจจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว เครียด และหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ ดังนั้นการเข้าไปจับต้องหรือสัมผัสสุนัขก็ควรสังเกตอารมณ์ของสุนัขให้ดีเสียก่อนว่าสุนัขอยู่ในสภวะอารมณ์ที่ไม่ปกติอยู่หรือเปล่า
5. สุนัขกำลังบาดเจ็บ
หากสุนัขกำลังได้รับบาดเจ็บ หรือประสบอุบัติเหตุคุณไม่ควรเข้าไปจับ หรือแตะต้องสุนัขในระหว่างนั้น แม้จะทำไปด้วยความปรารถนาดีก็ตาม เพราะสุนัขอาจจะไม่รับรู้ถึงเจตนาที่ดี แต่กลับคิดว่าคุณเป็นต้นเหตุของความเจ็บปวด การป้องกันตัวเองจากอันตราย จึงถือเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติที่ไม่อาจจะเอาผิดกับสุนัขได้ แต่หากมีความจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือก็ควรใส่ขลุมปากเสียก่อน
ในกรณีที่คุณมีความจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับสุนัข อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ล่ะ ควรทำอย่างไรดีจึงจะปลอดภัย
1. หลีกเลี่ยงการจับต้อง หรือสัมผัสกับสุนัขที่คุณไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ข้อนี้ยึดหลัก safety first
2. ใช้ความสงบ สยบความเคลื่อนไหว หรือค่อย ๆ เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ แต่ต้องไม่แสดงท่าทางหวาดกลัว
3. อย่าหันหลัง หรือวิ่งหนีสุนัข จงตั้งสติมองดูสุนัข และถอยหลังให้ห่างออกไป
4. อย่าส่งเสียงดัง หรือ เอะอะ โวยวาย โดยเฉพาะเด็กบางคนจะชอบตะโกน กรีดร้อง หรือวิ่งหนีเมื่อเห็นสุนัข ผู้ปกครองจะต้องอธิบาย และสอนเด็ก ๆ ให้เข้าใจว่าการทำเช่นนี้ สุนัขจะไม่ชอบ และอาจกระตุ้นให้สุนัขเข้ามาทำร้ายได้ พร้อมทั้งควรสอนท่าทาง การแสดงออกที่ถูกต้องให้แก่เด็ก ๆ ด้วย
5. หากมีความจำเป็นต้องสัมผัสสุนัขจริง ๆ คุณต้องแน่ใจว่าสุนัขไม่มีสัญญาณหรือท่าทางที่เป็นอันตราย
แล้วจึงค่อย ๆ เข้าหาและจับสุนัขด้วยความระมัดระวังอย่างนุ่มนวล ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการจับอวัยวะส่วนที่ไวต่อ
ความรู้สึก หรือจุดที่อาจทำให้สุนัขระแวงได้เช่น หัว หาง หู จมูก ปาก เป็นต้น
6. อย่าเข้าใกล้อาณาเขต ของสุนัข หรือหยิบจับข้าวของส่วนตัวของสุนัข เช่น กรง ชาม อาหาร ชามน้ำ ของกิน ของเล่น เป็นต้น
เมื่อทราบถึงวิธีการสังเกตและป้องกันตัวเองจากการถูกสุนัขทำร้ายแล้ว ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์ที่มีความเสี่ยง หรือมีแนวโน้มที่จะดุร้าย ก้าวร้าว อย่างเช่น ร็อตไวเลอร์ พิทบูลเทอร์เรีย ฟิล่าบราซิลเลียโร บูลเทอร์เรีย ฯลฯ (ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนควบคุมพิเศษ) ครูอุ๊มีวิธีการดูแลสุนัขเหล่านี้ ให้เป็นสุนัขที่ดี ไม่ก้าวร้าว และสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข มาบอกกันค่ะ
1. ก่อนการตัดสินใจซื้อสุนัขสายพันธุ์ดังกล่าว คุณควรศึกษาลักษณะนิสัย วิธีการเลี้ยงดู และคัดเลือกสาย
พันธุ์ของสุนัขให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ
2. บริเวณบ้านควรมีอาณาเขตที่กว้างขวางเพียงพอ เพื่อให้สุนัขมีพื้นที่ในการออกกำลังกาย หรือมีเวลาพา
สุนัขไปออกกำลังกายเพื่อลดพลังงานส่วนเกินได้
3. ฝึกสอนให้สุนัขเชื่อฟังคำสั่งง่าย ๆ เช่น นั่ง หมอบ คอย มานี่ฯ เพื่อให้คุณก็จะสามารถควบคุมสุนัขได้
เบื้องต้นในระดับหนึ่ง
4. ไม่ขัง หรือล่ามสุนัขเอาไว้เป็นเวลานานเกินไป เพราะการขัง หรือล่ามสุนัขมากเกินไปอาจทำให้สุนัขเกิด
ความเครียด หงุดหงิด และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวได้
5. จัดเวลาให้สุนัขได้ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอเพื่อปลดปล่อยพลังงานในตัวของสุนัขที่มาก
เกินไปให้ลดลง
6. เล่นกับสุนัขด้วยความนุ่มนวล และห้ามปรามทุกครั้งเมื่อสุนัขเล่นแรงเกินไป
7. สอนให้สุนัขรู้จักหยุด เมื่อเริ่มแสดงออกไม่เหมาะสม
8. อย่ายุ แหย่ หรือยั่วสุนัข เพราะอาจนำมาซึ่งพฤติกรรมก้าวร้าวได้ รวมทั้งควรป้องกันการถูกยุแหย่จาก
บุคคลอื่นด้วย
9. แจ้งเพื่อนบ้านว่าเรามีสุนัขดุ เพื่อเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะถ้าหากมีเด็กก็ต้องเพิ่มความดูแลเป็น
พิเศษ อย่าวางใจ
10. ไม่ตี หรือลงโทษสุนัขด้วยความรุนแรง เพราะอาจทำให้สุนัขดุร้ายมากยิ่งขึ้น
เมื่อคุยถึงเรื่องสุนัขทำร้ายคน ก็เลยถือโอกาสนำกฎหมายเกี่ยวกับสุนัขมาฝากกันค่ะ กฎหมายหมาน่ารู้ ฉบับนี้ว่าด้วยเรื่องการควบคุมสุนัขที่ถูกขึ้นทะเบียนควบคุมพิเศษ(ในข้างต้น) ซึ่งเป็นพันธุ์ดุร้าย หรือเป็นสุนัขที่เคยมีประวัติทำร้ายคนมาก่อน เจ้าของจะต้องใส่อุปกรณ์ครอบปากและใช้ลากจูงที่มีความยาวไม่เกิน 50 ซม. ให้แก่สุนัขตลอดเวลา รวมทั้งผู้ติดตามจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป
หากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายระบุ ไม่ความคุมดูแลสุนัขขณะอยู่ในที่สาธารณะ มีบทลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นเงินไม่เกิน 5,000 บาท และหากสุนัขไล่กัดทำร้ายผู้อื่นก็จะมีโทษปรับหนักเป็น 2 เท่า คือ จะต้องถูกปรับเป็นเงินไม่เกิน 5,000 บาท แล้วจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล และค่าทำขวัญให้กับผู้เสียหายอีกบานตะไททีเดียวเชียวแหละ
ได้ทราบเช่นนี้แล้ว ท่านที่เลี้ยงสุนัขกลุ่มที่มีความเสี่ยงอยู่ ก็จะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเลี้ยงดูให้มากเป็นพิเศษด้วยนะค่ะ เพื่อจะได้ไม่ไปสร้างปัญหา หรือไปทำร้ายผู้คนที่อยู่ร่วมสังคมกับเรา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ต้องขอยกมือเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ถึงอย่างไรกันไว้ ก็ดีกว่าแก้ คงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับลูก หลาน หรือคนที่คุณรักใช่มั๊ยค่ะ มาเถอะค่ะ มาร่วมกันเลี้ยงสุนัขอย่างมีความรับผิดชอบดีกว่าค่ะ
ก่อนจากกันไป มีสำนวนสนุก ๆ เกี่ยวกับสุนัขมาฝากกันค่ะ
เกร็ดสุนัข ส่งท้าย กับสุภาษิตโบราณที่บอกว่า “หมาเห่าไม่กัด”
หลาย ๆ ท่านเข้าใจว่า มันต้องเป็นจริงอย่างคำบอกเล่าของคนโบราณเป็นแน่ แต่ความจริงแล้ว ต้องบอกว่านำมาใช้กับสุนัขจริง ๆ ไม่ได้ค่ะ เพราะสำนวนนี้ไม่ได้ใช้เปรียบเทียบถึงสุนัข หากแต่สำนวนนี้มีความหมายเปรียบเทียบถึงคนต่างหาก “หมาเห่าไม่กัด หมายถึงบุคคลที่ด่าว่า เอะอะนั้น มักไม่เก่งจริง” เมื่อทราบความหมายแล้ว หากคุณพบสุนัขเห่า ก็ให้คิดล่วงหน้าได้เลยว่ามันต้องกัดเป็นด้วยแน่ ๆ จากนั้นก็ให้คุณรีบออกห่างไว้ก่อนเป็นดีที่สุดค่ะ เพราะหากเชื่อคำโบราณก็อาจจะต้องโดนฉีดยา บานบุรี ก็เป็นได้
หวังว่าน้องหมาที่คุณรัก จะน่ารักแสนรู้ และเป็นสุนัขนิสัยดี ไม่ดุร้าย ไม่ก้าวร้าว ในเร็ววันนี้นะคะ พบกันใหม่ สวัสดีค่ะ